บ้านฝายริมปิง จ.กำแพงเพชร-ความงามที่แสนเรียบง่ายเพชรที่ซ่อนอยู่ในกำแพง...คอนกรีต
- Krithiran Lersauritpakdee
- 25 มี.ค.
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 25 มี.ค.
นิตยสาร Mestyle home and Living-March2018 โครงการ : บ้านฝายริมปิง คุณเกรียงไกรชนะ นิธิธรรม ที่ตั้ง : จ.กำแพงเพชร โดย : ศูนย์รับสร้างบ้านอินเตอร์โฮม-interhomeproperty “ถ้าเรามีวัตถุดิบดีได้คนออกแบบไม่เก่งเราอาจได้แค่พลอย
และถ้าวัตถุดิบไม่ดีแต่ได้คนออกแบบดีเราก็อาจได้พลอยเม็ดงาม
แต่บ้านหลังนี้มีดีพร้อมตั้งแต่วัตถุดิบดีผู้ออกแบบดีช่างฝีมือดี
บ้านหลังนี้...จึงเปรียบเหมือนเพชรเม็ดงามที่ซ่อนอยู่ในกำแพง...คอนกรีต”
...เกรียงไกรชนะ นิธิธรรม
“บ้านหลังนี้เป็นบ้านชั้นเดียวออกแบบตามแนวคิด Universal Design เพื่อทุกคนทุกวัยใช้ได้หมดวีลแชร์ไปได้ทุกที่ทุกห้องในบ้านหลังนี้ผมบอกสถาปนิกช่วยออกแบบให้บ้านหลังนี้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานเพราะอีก 30 ปีผมก็อายุ 70 ปีเกิดต้องนั่งวีลแชร์ก็สามารถอยู่ได้อย่างสะดวกสบายเลยให้ออกแบบเผื่อไว้ตั้งแต่แรกเลยซึ่งทางสถาปนิกรศ.สุรศักดิ์กังขาวบอกว่าบ้านหลังนี้อยู่ได้เป็น 100 ปี” คุณเกรียงไกรชนะนิธิธรรมเจ้าของบ้านและเป็นผู้ที่ได้ครอบครองเพชรเม็ดงามแห่งฝายท่อทองแดง ฝายโบราณที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานคู่กันมากับเมืองกำแพงเพชรแห่งนี้
คุณเกรียงไกรบอกมีเรื่องเล่ากันมาว่า “สมัยก่อนกำแพงเพชรมีชื่อเดิมเรียกว่าเมืองชากังราวเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบสมัยสุโขทัยพ่อขุนรามคำแหงให้ที่นี่เป็นเมืองหน้าด่านเพราะที่นี่มีกำแพงเมืองที่ใหญ่มากพม่ามาล้อมไว้เพราะตียังไงก็ไม่แตกก็เลยล้อมเมืองเพื่อให้คนที่อยู่ในเมืองอดอาหารอดน้ำตายปรากฏว่าล้อมไว้หลายเดือนคนข้างในยังอยู่ได้และมีชีวิตปกติสุขดีสุดท้ายพม่ารู้ว่ามีท่อๆหนึ่งที่ส่งน้ำจากแม่น้ำปิงเข้าไปที่บ่อสามแสนบ่อน้ำที่เลี้ยงคนได้ 3 แสนคนเลยมีชื่อว่าบ่อ 3 แสนส่วนท่อทองแดงคือท่อที่ใช้ส่งน้ำจากแม่น้ำปิงเข้าไปในเมืองหลังจากนั้นมีสร้างฝายขึ้นมาแล้วอยู่ใกล้ท่อทองแดงเลยเป็นที่มาของฝายท่อทองแดงประโยชน์หลักคือใช้ในด้านการชลประทานที่กำแพงเพชรพื้นที่จะเอียงจากตะวันตกไปตะวันออกมีแม่น้ำปิงตัดผ่านการยกระดับน้ำสูง 6-8 เมตรน้ำจะไหลไปตามธรรมชาติทางทิศตะวันออกฝายท่อทองแดงนี้ช่วยให้เพิ่มพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะนาปรังได้ 2 แสนกว่าไร่การชลประทานในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาถือว่าดีมากต้องยกเครดิตให้กรมชลประทานทำฝายที่ใช้พลังงานน้อยมากยกระดับน้ำสูง 6-8 เมตรน้ำสามารถกระจายไปหลายๆแขนงเกิดคลองซอยแบบย่อยเป็น 10 คลองวิ่งไป 100 กิโลเชื่อมกับคลองที่สุโขทัยแค่เปิด-ปิดประตูน้ำอย่างเดียวเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมที่ชาญฉลาดมากผมโชคดีที่ได้ที่แปลงนี้มาแล้วติดฝายได้ชื่นชมความงดงามที่สร้างประโยชน์ให้กับคนกำแพงเพชร
ผมซื้อที่แปลงนี้มานานแล้ว 300 กว่าไร่เดิมผมตั้งใจทำโรงงานผลิตสินค้าเกี่ยวกับการเกษตรผมเป็นคนกำแพงเพชรโดยกำเนิดแปลงนี้เป็นแปลงใหญ่มีที่ติดฝายอยู่ในแปลงด้วยแต่ปัญหาคือที่แปลงนี้ใกล้ชุมชนไม่เหมาะที่จะทำโรงงานกลัวมีปัญหาเรื่องมลภาวะเลยพับโปรเจคไว้พอวันหนึ่งเราก็เอามาปัดฝุ่นด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้นเลยอยากหาสถานที่พักผ่อนที่พักอาศัยจนมีโอกาสได้ทำงานโครงการหนึ่งแล้วเจอทีมงานของอาจารย์สุรศักดิ์เป็นสถาปนิกคุยกันถูกคอผมก็บอกอาจารย์เชิงท้าทายนิดหนึ่งว่าผมมีที่สวยอยู่แปลงหนึ่งเปรียบเหมือนเรามีแร่ดีๆอยู่ก้อนนึงอาจารย์เจียระไนให้เป็นเพชรได้ไหมอาจารย์ก็รับปากว่าผมทำให้และบ้านหลังนี้จึงได้อาจารย์สุรศักดิ์มาช่วยออกแบบและควบคุมการก่อสร้างอาจารย์มีทีมงานมาควบคุมและมีผู้รับเหมาคือบริษัทอินเตอร์โฮมพรอพเพอร์ตี้รวม 3 ทีมที่มาทำงานร่วมกันใช้เวลาสร้างเกือบๆ 3 ปี”
“ผมบอกโจทย์ให้อาจารย์สุรศักดิ์ไปไม่กี่บรรทัดคือวิวของท้องน้ำที่สวยที่สุดอยู่ช่วงระดับน้ำสูง 2.5—3 เมตรทำอย่างไรให้เราสามารถชมวิวนี้ได้ตลอดเวลาออกแบบรับกับมุมมองอยู่แบบมั่นคงปลอดภัยอายุการใช้งานยาวนานเราไม่เน้นความสวยงามเท่าไหร่ที่เน้นคือความเรียบง่ายใช้ประโยชน์ได้จริงการดูแลรักษาน้อยชอบสไตล์โมเดิร์นแบบ minimal style พอแบบออกมามันใหญ่กว่าที่คิดมีมิติการออกแบบที่หลากหลายมิติไม่ว่าจะมองมุมไหนอย่างมุมมอง World Heritage มุมมองความงามด้านสถาปัตยกรรมงานออกแบบภูมิสถาปัตย์และงานออกแบบแสงและเงาทำให้ทุกอย่างมันมีความงามเกิดขึ้นในทุกมิติที่เราสามารถสัมผัสได้”
“ถ้าสังเกตบ้านนี้ไม่มีเสาไม่มีคานไม่มีฝ้าเพดานออกแบบให้การรับน้ำหนักเป็น Bearing Wall ใช้กำแพงเป็นตัวรับน้ำหนักฝ้าเพดานเป็นซีเมนต์หล่อในที่สร้างยากมากหลังคาเรียบแต่มีสโลปถ้าเรายื่นออกไปชายคาส่วนยื่นจะพับลงถ้าคิดใหม่เปลี่ยนรูปทรงจะสามารถยื่นยาวออกไปได้อีกด้วยความที่ต้องการให้ชายคายื่นยาวออกไปโดยไม่ต้องมีเสาไปรับต้องแลกกับโครงสร้างที่เอียงเพื่อรับน้ำหนักเพื่อให้น้ำหนักกระจายไปที่ผนังดูเหมือนง่ายแต่การก่อสร้างยากพอสมควรแม้แต่ผนังที่ออกแบบจะไขว้ไปมาเพื่อรับน้ำหนักและตัวบังแสงส่วนที่สว่างตรงกับส่วนที่ทึบของผนังบ้านส่วนที่ทึบจะตรงกับผนังด้านที่เป็นกระจกเป็นเหมือนตัวบังแสงออกแบบบิดไปบิดมาเพื่อบังแดดออกแบบสลับเป็นช่องๆการดีไซน์ผนังรับน้ำหนักและคำนึงถึงการรับแสงด้วยคำนึงถึงทิศของลมด้วยอาคารหลังนี้แคบแต่ยาวได้สเปซที่ทุกห้องเห็นวิวแม่น้ำหมดแต่ตัวบ้านออกแบบขวางตะวันเลยมีแดดค่อนข้างเยอะจึงมีการออกแบบ Single Corridor ทางเดินเดี่ยวช่องที่เปิดจะเจอผนังทึบบังคับทิศของลมแค่เปิดกระจกไม่กี่บานลมจะพัดผ่านสบายโปร่งสบายมาก
บ้านมีแอร์เผื่อไว้เมื่อจำเป็นช่วงหน้าร้อนในวันที่อากาศร้อนมากเท่านั้น ถ้าไม่จำเป็นเราก็ไม่เปิดค่าไฟบ้านนี้น้อยมากฟังก์ชั่นภายในบ้านก็จะมีห้องหนังสือให้ลูกๆทั้ง3 คนทำการบ้านผมก็ทำงานห้องนี้ที่นี่วิวสวยมากทุกห้องเปิดรับวิวหมด
ส่วนการออกแบบสระว่ายน้ำเลือกใช้สีเหลืองกับเขียวออกแบบให้สีของน้ำที่สะท้อนกลมกลืนกับแม่น้ำเพราะทางสถาปนิกบอกว่าทุกอย่างที่ออกแบบมีที่มาที่ไปรองรับหมดไม่มีอะไรที่ไม่มีที่มาชี้ไปตรงไหนมีที่มาหมด
ส่วนห้องพระบ้านนี้สร้างนิยามใหม่หมดเพราะห้องพระคือพระที่อยู่กลางบ้านเป็นหัวใจของบ้านปกติคนส่วนใหญ่จะออกแบบห้องพระอยู่ชั้นบนอยู่ห้องในสุดอยู่ห้องสงบๆแต่มุมมองของผมและอาจารย์ตรงกันคือพระท่านควรจะคุ้มครองเรานะท่านควรจะอยู่ใกล้เราท่านเลยมาอยู่ตรงศูนย์กลางของบ้านและการที่มีพระอยู่ในบ้านทำให้คนเคารพสถานที่คนที่จะกินเหล้าเมายาอบายมุขก็ไม่มีเรามีชีวิตสงบองค์พระเป็นหินแกะสลักเหมือนหินศิลาแลงจากกาญจนบุรีองค์พระหนัก 42 กิโลกรัมหนักมากคนแกะองค์พระเป็นคนกำแพงเพชรภาพวาดหรือไม้ที่อยู่ในห้องพระผมเน้นใช้ของในพื้นที่กำแพงเพชรหมดช่างก็ช่างในพื้นที่เพราะคอนเซ็ปต์ผมคือให้คนพื้นที่ได้สร้างสรรค์งานให้โอกาสส่งเสริมงานศิลปะเผื่อให้เขามีงานต่อผมเป็นคนออกไอเดียช่างช่วยสร้างสรรค์งานให้”
“บ้านนี้มี 3 มุมในการชมแม่น้ำคือมุมสงบไว้เป็นห้องนอนมุมคึกคักและมุมสบายๆมีเฟอร์นิเจอร์นั่งชมแม่น้ำซึ่งเฟอร์นิเจอร์ทีมงานอาจารย์สุรศักดิ์ออกแบบให้นั่งได้หลายแบบมากทั้งนั่งทั้งพาดเอนนอนได้สามารถปรับตามสรีระเอาไว้นอนดูวิวคนแก่นั่งพิงได้เด็กๆทำการบ้านได้นั่งทั้งข้างล่างและข้างบนได้หมดออกแบบให้นั่งบนพื้นได้ด้วยเบื่อๆนั่งข้างบนได้นั่งคุยนั่งเล่นได้สบายและสามารถนอนบนโต๊ะได้หรือดึงเบาะมานอนเฟอร์นิเจอร์ 2 ตัวนั่งได้ 6 ฟังก์ชั่น
บ้านนี้อยู่กับธรรมชาติพอเข้าบ้านมีเสียงน้ำตลอดเวลาเป็นวารีบำบัดช่วยผ่อนคลายนกมาเต็มบ้านมาเกาะต้นทองกวาวบ้านหลังนี้ไม่ได้แค่ชมวิวน้ำเห็นด้วยสายตาแต่คุณไปสัมผัสได้เล่นน้ำได้ไปนอนแช่ในน้ำได้น้ำตื้นแค่เข่านั่งโขดหินให้น้ำผ่านตัวได้คนกรุงเทพฯขาดเรื่องนี้เพราะห่างจากธรรมชาติอาจารย์สุรศักดิ์เคยพูดว่าเราไม่ได้ร่ำรวยมากกว่าคนอื่นแต่เราจะใช้ชีวิตให้คนที่มีอิจฉาได้เพราะคนที่ร่ำรวยมีกว่าเราเยอะแยะแต่เรามีความสุขแบบที่เรียบง่าย
จริงๆบ้านเป็นแค่สิ่งปลูกสร้างนะเพราะที่สำคัญกว่าบ้านก็คือคนที่อยู่ในบ้านคนในครอบครัวคุณจะมีบ้านหลังใหญ่ขนาดนี้หรือจะมีบ้านหลังเล็กนิดเดียวแต่ถ้าครอบครัวคุณไม่มีความสุขมันก็ไม่มีประโยชน์ผมว่าสุดท้ายแล้วเนี่ยสิ่งที่สำคัญกว่าขนาดบ้านไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ยังสำคัญน้อยกว่าคนที่อยู่ในครอบครัวว่ามีความสุขในการได้อยู่ด้วยกันเพราะเรื่องที่สำคัญที่สุดคือลูกๆและภรรยามีความสุขมากในบ้านหลังนี้เรามีการทำกิจกรรมร่วมกัันและบางครั้งยังมีให้ยืมสถานที่เป็นที่ประชุมทั้งงานวิชาการงานท่องเที่ยวหรืองานที่ต้องการการครีเอทให้เข้ามาใช้พื้นที่ในบ้านได้เพราะเรามีห้องประชุมและห้องพักแขกพร้อมรองรับบ้านเราก็เกิดประโยชน์กับผู้อื่นด้วย”
นี่คือสิ่งสำคัญของงานสถาปัตยกรรมคือความมีชีวิตของผู้คนที่เข้ามาใช้พื้นที่ และทำให้เกิดความต่างของสิ่งก่อสร้างที่เป็นเพียงซากอาคารที่ไร้ชีวิตกับงานสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าดุจเพชรน้ำหนึ่งแห่งนี้
+++++++++++
รศ.สุรศักดิ์ กังขาว สถาปนิกผู้ออกแบบและเจียระไนเพชรเม็ดงามแห่งนี้
ความน่าสนใจของบ้านหลังนี้คือพื้นที่และโลเคชั่นซึ่งเป็นพื้นที่ที่ดีมากๆหาไม่ได้ง่ายๆและอยู่ในพื้นที่มรดกโลกพื้นที่รอบๆคือฝาย เพราะฉะนั้นการออกแบบให้เชื่อมโยงและสัมพันธ์กันกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มรดกโลกคือสุโขทัยศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชรเราพยายามเอาเรื่องราวจากพื้นที่มรดกโลกเข้าไปเชื่อมโยงส่วนเรื่องแม่น้ำเราพยายาม approach ทุกๆห้องให้มองเห็นวิวแม่น้ำทั้งหมดซึ่งลักษณะเด่นเฉพาะของบ้านคือ Single corridor ทางเดินด้านเดียวต่างจากบ้านทั่วไปๆที่ต้องเป็น Double corridor คือเวลาเดินขึ้นบันไดหรือเข้าบ้านจะแยกซ้ายแยกขวาแต่ของเราคือทางเดินอยู่ชิดไปด้านหนึ่งคือห้องที่เรียงติดๆกันทุกห้องเห็นวิวแม่น้ำหมด
ประเด็นของตัวห้องเวลาเรามองออกไปถ้าเราวางตัวอาคารตรงๆจะมองเห็นวิวแม่น้ำเหมือนๆกันและมุมมองบางส่วนก็จะไม่สวยเพราะฉะนั้นจึงเป็นสาเหตุที่มาของอาคารที่เลี้ยวไปเลี้ยวมาเพราะเรากำหนดห้องกำหนดตำแหน่งของห้องให้ตรงกับวิวที่จะมองไปที่แม่น้ำเพราะฉะนั้นห้องแต่ละห้องมีวิว Approach ที่แตกต่างกันเวลาที่เราเข้าไปอยู่ในห้องเช่นห้องทานอาหารกับห้องหนังสือจะเห็นวิวแตกต่างกันเหมือนอยู่คนละที่เลยทั้งๆ ที่ห้องอยู่ถัดไปมันจะสลับมุมมองตามห้องที่เรากำหนดตั้งแต่แรกก่อนที่จะสร้างบ้าน อาคารเลยออกมาแบบเลี้ยวไปเลี้ยวมาจากจุดที่เวลาเราเดินเข้าไปที่ทางเดินที่มันเบี้ยวไปเบี้ยวมาเราออกแบบให้มันไม่น่าเบื่อให้มีช่องแสงวิ่งเข้ามาเป็นจังหวะๆ
ที่มาของการออกแบบบ้านชั้นเดียวด้วยศักยภาพของพื้นที่เมื่อเราได้พื้นที่ที่ดีเราก็ต้องการใช้ให้สอดรับกับพื้นที่ที่มีพูดถึงที่ดินเวลาที่ดินหน้ามันกว้างถ้าเราสร้างบ้านแล้วมันกระจุกตัวเป็นก้อนถ้าบ้านไม่แผ่ออกไปเราจะมุมมองแค่มุมหนึ่งหรือสองมุมเท่านั้นเปรียบเทียบกับที่เรากระจายพื้นที่ออกไปเราจะได้มุมมองที่หลากหลายขึ้นเหมือนเรามีที่ดิน100 บาทเราใช้ให้เต็ม 100 บาทเต็มศักยภาพของพื้นที่
เราออกแบบให้เป็น Universal Design บ้านต้องอยู่กันจนแก่เฒ่าถ้าออกแบบบ้านในระดับเดียวกันย่อมเป็นโอกาสที่ดีเหตุผลที่ยกพื้นสูงมาจากเรือนไทยมีการระบายอากาศที่ดีและได้มุมมองที่ดีกว่าเวลาที่เรายกพื้นอากาศถ่ายเทจากทางใต้ถุนทำให้บ้านร่มเย็นขึ้นแต่ความสูงของบ้านเวลาที่เรามองจากฝั่งตรงข้ามเราจะเห็นว่าความสูงที่มีไม่สูงกว่าทิวเขาที่เราวางไว้เหมือนบ้านหมอบอยู่กับธรรมชาติบ้านกลมกลืนกับธรรมชาติส่วน service ทั้งหมดอยู่ใต้ถุนเช่นแอร์คอยล์ร้อนเวลาที่อยู่ในพื้นที่ร่มอายุการใช้งานยาวมากขึ้นไม่โดนความร้อนและการบำรุงรักษาก็ทำได้ง่าย
เหตุผลของการออกแบบหลังคาที่เราใช้เป็นคอนกรีตหล่อในที่เพราะถาวรกว่าการรั่วซึมไม่มีแน่นอนในอนาคตข้างหน้าเวลาเราหล่อเสร็จเราใช้เป็นฝ้าในตัวไม่ต้องทำฝ้าให้ซับซ้อนอีกเพราะฉะนั้นเรื่องฝุ่นก็จะน้อยมากโอกาสรั่วก็จะไม่มีเราทำหลังคาอีกชั้นช่วยกรองความร้อนไม่ให้ความร้อนโดนตัวอาคารโดยตรงเป็นการระบายอากาศและคายความร้อนได้ดีขึ้น
สังเกตว่าในบ้านเราจะไม่พบเสาเลยแม้แต่อันเดียวเราทำเป็นผนังแบบ Bearing Wall เราใช้ผนังรับน้ำหนักทำให้ดูสบายตาบ้านโล่งขึ้น
ผมใช้เวลาออกแบบเกือบ6 เดือนพูดคุยทำความเข้าใจเจ้าของบ้านเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานและพื้นที่ดินกับศักยภาพของที่ซึ่งอยู่ในโลเคชั่นที่ดีมากๆจากประสบการณ์ในการทำงานของผมกว่า 30 ปีมีโอกาสที่ได้ทำงานในพื้นที่ที่มีศักยภาพแบบนี้ เพราะฉะนั้นต้องใช้โอกาสตรงนี้ให้เต็มที่กับงานออกแบบเพื่อไม่ให้เสียของ
ตอนที่เปิดประตูเข้าบ้านไปจะพบโถงตรงกลางใหญ่เราสร้างบรรยากาศให้มีฟีลลิ่งคล้ายกับเรือนบ้านเป็น good view วิวพาโนราม่าห้องไม่ใช่สี่เหลี่ยมเป๊ะแต่เป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแต่เวลาเรามองต้องให้มันสมมาตรเวลาเรามองความรู้สึกเหมือนสี่เหลี่ยมตรงนั้นเป็นห้องใหญ่ที่ไม่ติดแอร์เป็นเหมือนเรือนบ้านชานบ้านเราก็นำภูมิปัญญาเก่ามาใช้นั่งเล่นกับพื้นโดยที่เราไม่รู้สึกขัดเขินเป็นไปโดยธรรมชาติ
บ้านหลังนี้คือหนึ่งในมาสเตอร์พีซของผมปกติไม่รับออกแบบบ้านเพราะใช้เวลาค่อนข้างเยอะด้วยพื้นที่ที่เราสนุกอยากทำเพราะพื้นที่แบบนี้คงไม่มีให้ออกแบบได้ง่ายๆหรืออาจจะไม่มีโอกาสได้ออกแบบพื้นที่แบบนี้อีกหรือเปล่า
ความสุขของคนออกแบบคือโอกาสที่จะได้งานแบบนี้ไม่ง่ายต้องพร้อมทั้งตัวเจ้าของบ้านที่เชื่อใจมั่นใจในการออกแบบของเราตัวเราพื้นที่สภาพแวดล้อมของพื้นที่หลายเรื่องต้องมาเจอกันให้พอดีให้ได้ซึ่งมันไม่ง่ายอย่างเวลาเราออกแบบบ้านที่กรุงเทพฯคงไม่สามารถออกแบบบ้านลักษณะนี้ได้
งานนี้เกิดจากความสนุกและเป็นความสุขร่วมกัน
คิดว่างานแบบนี้สร้าง inspiration แรงบันดาลใจให้กับผู้พักอาศัยได้ดีเป็นแหล่งที่เติมพลังให้เขาได้ทุกๆวันมันได้ฟีลลิ่งความเป็นธรรมชาติไม่ใช่วิวที่สวยอย่างเดียวได้เรื่องเสียงได้ฟังเสียงน้ำความรู้สึกเวลาเราเข้าตัวบ้านได้ยินเสียงน้ำจากฝายตลอดเวลาฟังแล้ว lively ธาราบำบัดผ่อนคลายมีความสุข
คงหาได้ยากกับฟีลลิ่งหลายๆอย่างลองเดินลงฝายแล้วมองจากมุมตรงข้ามจะเห็นว่าบ้านสร้างแล้วได้ฟีลลิ่งแบบไหน นี่คือสถาปัตยกรรมที่หมอบอยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืนและงดงามร่วมกัน
Commentaires